โรคภูมิแพ้ในผู้สูงอายุ รักษาไม่หาย…แต่ป้องกันได้

ในแต่ละปีคนไทยในทุกช่วงวัยมากกว่า 30% จะต้องเผชิญกับโรคภูมิแพ้ ที่กำลังมีอัตราการเกิดสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับผู้สูงอายุ อาการภูมิแพ้ทั่วไปมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผลข้างเคียงจากอาการป่วย หรือยารักษาโรค จึงทำให้ไม่สามารถดูแลได้ตรงจุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงอายุก็สามารถเป็นโรคภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกันกับวัยอื่นๆ และถึงแม้ว่าโรคภูมิแพ้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็สามารถปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในผู้สูงอายุและวิธีป้องกันได้ที่นี่

โรคภูมิแพ้ (ALLERGIES) คืออะไร

โรคภูมิแพ้ (Allergies) เกิดจากภาวะภูมิไวเกินของร่างกาย ที่ทำปฏิกิริยาตอบสนองอย่างเฉียบพลัน ต่อสารที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ผ่านการรับประทาน หายใจ หรือสัมผัส โดยระบบภูมิคุ้มกันจะเร่งผลิตสารเคมีที่มีฮีสตามีนเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อไปต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายคิดว่าเป็นอันตราย ทำให้เราเกิดอาการแพ้ต่างๆ อาการแพ้อาจเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ และสามารถเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าไม่เคยแสดงอาการมาก่อน ในวัยสูงอายุ อาการภูมิแพ้ ที่พบได้บ่อยได้แก่ โรคภูมิแพ้อากาศ และโรคภูมิแพ้อาหาร

อาการแพ้อาจเกิดขึ้นได้ในระบบใดระบบหนึ่งของร่างกาย หรือหลายระบบพร้อมกัน และอาจมีความรุนแรงเล็กน้อยไปจนถึงขั้นเสียชีวิต อาการแพ้ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ผื่นคันตามร่างกาย เคืองตา ท้องเสีย อาเจียน หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจติดขัด จะต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที

โรคภูมิแพ้อากาศ (SEASONAL ALLERGIES)

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำให้ผู้สูงอายุบางรายเกิดอาการแพ้อากาศเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในอากาศ ได้แก่ ละอองเกสร ไรฝุ่น และมลพิษต่างๆ อย่างไรก็ตามการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้เป็นจำนวนมาก จะไม่ช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้มากขึ้น แต่กลับทำให้ไวต่อการแพ้มากกว่าเดิม

อาการแพ้อากาศ ได้แก่ คันจมูก จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจลําบาก อาจมีอาการคันตา เคืองตา น้ําตาไหล ร่วมด้วย และในฤดูหนาว ผู้สูงอายุที่แพ้อากาศอาจมีอาการคันผิวหนัง ทำให้เป็นผื่น และผิวหนังอักเสบ

สำหรับผู้สูงอายุ การรับประทานยาแก้แพ้อากาศ จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือภาวะทางการแพทย์อื่นๆ

วิธีป้องกันภูมิแพ้อากาศสำหรับผู้สูงอายุ

  • รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยไม่ให้มีฝุ่น ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ 
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ข้างนอกอาคาร เมื่อมีลมแรงหรือฝนตก เพราะละอองเกสรดอกไม้อาจปลิวมาตามลมได้
  • งดทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการแพ้อากาศ เช่น การตัดหญ้า ตัดต้นไม้ กำจัดวัชพืช
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
  • ใช้ยาต้ามภูมิแพ้ตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี

โรคภูมิแพ้อาหาร (FOOD ALLERGY)

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การแพ้อาหารเป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก แต่แท้จริงแล้ว การแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้ในวัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุได้เช่นกัน โดยอาหารทะเลเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด ในบางครั้งผู้ที่แพ้อาหารอาจรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ การทราบสาเหตุของการแพ้ให้แน่ชัด และใส่ใจส่วนประกอบของอาหารที่รับประทาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการแพ้

อาการแพ้อาหารอาจเกิดขึ้นได้ทันที ภายใน 5-30 นาที หลังจากรับประทานอาหาร และอาจปรากฏอาการหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน

อาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อย มีดังนี้:

  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ตาบวม ปากบวม ผิวหนังมีผื่นคัน
  • ไอ จาม หายใจไม่ออก
  • ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ

อาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้สูงอายุ ได้แก่:

  • อาหารประเภทถั่ว
  • ปลา อาหารทะเล
  • แป้งสาลี
  •  ไข่
  • สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู
  • ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมสด ชีส โยเกิร์ต
 

ถึงแม้ว่าโรคภูมิแพ้โดยทั่วไป จะเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่การทราบสาเหตุของการแพ้ รวมถึงการทดสอบอาการแพ้ตามความเหมาะสม ก็จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาหารแพ้ได้ นอกจากนี้การหมั่นดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะสามารถช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น